“มังคุด”
ที่ “บ้านคีรีวง” เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนมังคุดที่ใด
เพราะเป็นมังคุดที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้
คุณสมบัติของมังคุดเขาบ้านคีรีวงที่โดดเด่นกว่ามังคุดที่อื่น
เพราะมีแหล่งปลูกมังคุดอยู่บนภูเขาอยู่ร่วมกับผืนป่าตามธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และยังมีการปลูกแบบผสมผสานรวมกับผลไม้ชนิดอื่นๆในขณะที่พื้นที่สวนอื่นๆเช่นสวนยางพารา
จะมีการปลูกแค่ยางพาราเพียงอย่างเดียว แต่สวนของคีรีวงมีผลไม้หลากหลายชนิดตั้งแต่
มังคุด ทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธ์ เงาะ
ลางสาด สะตอ ซึ่งเป็นการปลูกแบบป่าผสมผสานที่มีความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นสูง สภาพแวดล้อมของสวนบนภูเขาซึ่งชาวบ้านมีการเรียนรู้และพัฒนาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
มากว่า 200 ปี แต่หลังจากที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จึงทำให้ชาวคีรีวงตระหนักมากขึ้นระมัดระวังมากขึ้น
ในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ
ด้วยภูมิศาสตร์ของคีรีวงที่อุดมสมบูรณ์จึงทำให้ผลผลิตของเกษตรกรชาวคีรีวงแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆและทำให้ผลผลิตมังคุดมีคุณภาพที่ดี
มีผลขนาดใหญ่กว่าพื้นที่อื่นๆ มีผิวมัน กลีบที่ขั้วผลมีสีเขียว
มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย โดยไม่ต้องใช้สารเร่งใดๆ
“มังคุด”
ราชินีแห่งไม้ผล (Queen of Fruit) และมังคุดมี
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Garcinia mangostana Linn.) เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตเป็นฤดูกาล
อาจนับได้ว่าเป็นไม้คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ การบอกกล่าวของผู้รู้ตำนาน เป็นพันธุ์ไม้ผลัดใบเขตร้อนชนิดหนึ่ง
เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ
แพร่กระจายพันธุ์ไปสู่หมู่เกาะอินดีสตะวันตกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 แล้วจึงไปสู่
กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ ไปจนถึงฮาวาย
ในประเทศไทยมีการปลูกมังคุดมานานแล้วเช่นกัน
เพราะมีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนั้น ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชยังเคยเป็นที่ตั้งของวังที่มีชื่อว่า
"วังสวนมังคุด" ในจดหมายเหตุของราชทูตจากศรีลังกาที่เข้ามาขอพระสงฆ์ไทย
ได้กล่าวว่ามังคุดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นำออกมารับรองคณะทูต และลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นมังคุดบ่งชี้ว่ามีอายุยาวนาน
มาหลายร้อยปีพอๆกับชุมชนบ้านคีรีวง
คีรีวงเป็นชุมชนเล็กๆ
ตั้งอยู่ในที่ราบหุบเขาของเทือกเขานครศรีธรรมราชพื้นที่ตำบลกำโลน
อำเภอลานสกาจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และน่าภูมิใจในความเป็นมา
ความกล้าหาญ ความอดทนและการต่อสู้ของบรรพบุรุษที่นับย้อนไปได้กว่า 200 ปีที่ผ่านมา
เดิมชุมชนคีรีวง มีชื่อเรียกว่า “บ้านขุนน้ำ” เหตุเพราะมีพื้นที่อยู่ใกล้ต้นน้ำจากยอดเขาหลวง
ในเทือกเขานครศรีธรรมราช ทำให้มีลำคลองไหลผ่านกลางหมู่บ้านตลอดปีถึง 3 สาย คือ คลองปง คลองท่าหา และคลองท่าชาย ซึ่งไหลมาบรรจบกันที่หน้าหมู่บ้าน
เรียกว่า คลองท่าดี แล้วไหลไปสู่เมืองนครศรีธรรมราชออกทะเลที่ปากนคร
มีระดับน้ำลึกเพียงพอสำหรับใช้เป็นเส้นทางขนส่ง สัญจรไปมาได้
นอกจากนี้หมู่บ้านอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาใกล้ต้นน้ำก็ใช้คำว่า “ขุนน้ำ” นำหน้าชื่อชุมชนเหมือนกัน เช่น
ขุนน้ำเขาแก้ว ขุนน้ำท่างิ้ว ขุนน้ำกำโลน เป็นต้น
ต่อมาชื่อหมู่บ้านถูกเปลี่ยนเป็นบ้าน “คีรีวง” ซึ่งมีความหมายว่า “บ้านที่อยู่ ในวงล้อมของภูเขา”
ตามชื่อวัดที่สร้างขึ้นมา และอยู่ในเขตปกครองท้องถิ่นของ
ตำบลกำโลนสืบมาจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มผู้ตั้งรกรากครั้งแรกนั้น
เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาประมาณ 7 ตระกูลซึ่งเป็น ตระกูลใหญ่ๆ อยู่ในปัจจุบัน คือ
ตระกูลตลึงจิตร ตระกูลตลึงเพชร ตระกูลสุกใส ตระกูลประพัฒน์ ตระกูลจะระนิล
ตระกูลธวัชกาญจน์ และตระกูลสุชลจิตร ซึ่งต่อมาตระกูลเหล่านี้ได้มีสัมพันธ์ต่อกัน
โดยลูกหลานได้แต่งงานและเกี่ยวดอง เป็นเครือญาติกันทั้งหมด ความเป็นเครือญาติ ของคนในหมู่บ้านนี้
ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
อันนำไปสู่ความสามารถพึ่งตนเองของหมู่บ้านบรรพบุรุษของชาวคีรีวง
ที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก เป็นบรรดาไพร่ที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบที่เมืองไทรบุรี
(มาเลเซียในปัจจุบัน) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยรัชกาลที่ 1 – 2) จึงได้ชักชวนกันเดินลัดเลาะเรื่อยมาตามคลองขุนน้ำ
จนกระทั่งมาถึงที่ราบเล็กๆ ระหว่างหุบเขา ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบไว้หมดทุกด้าน มีทำเล
ที่ยากต่อการถูกติดตาม และยังเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีลำน้ำไหลผ่านตลอดปีบรรดาไพร่กลุ่มน้ำจึงพร้อมใจกันจับจองพื้นที่บริเวณที่ราบระหว่างหุบเขา
แผ้วถางสร้างที่พักอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ
และปลูกผลไม้ขึ้นไปตามริมฝั่งคลองทั้ง 3 ด้าน
คือเขาหอยสังข์เขายอดเพล และเขาหลวง โดยปลูกพันธุ์ไม้หลายชนิดไว้รวมกับพันธุ์ไม้ธรรมชาติบริเวณเชิงเขา
เกิดเป็นรูปแบบที่เลียนวิถีธรรมชาติ ผลไม้ที่สำคัญของชุมชน ได้แก่มังคุด ทุเรียนพื้นบ้าน ลางสาด ลองกองขนุน กล้วยจำปาดะ สะตอ
หมาก พลูลูกเนียง ฯลฯ โดยเฉพาะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียง
มากของบ้านคีรีวง ชาวบ้านชวนให้มาเยือนหมู่บ้านในช่วงฤดูฝน เพราะถ้าพักในหมู่บ้าน
(แบบโฮมสเตย์) จะได้กินมังคุดที่เก็บเองจากต้น กินเท่าไรก็ได้ไม่คิดเงิน
แต่ขอให้เก็บเปลือกมังคุดมาให้เจ้าของด้วย
เพราะเปลือกมังคุดจะถูกนำไปทำสบู่และแชมพูมีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนังหลายอย่าง
แต่ในช่วงที่ไม่ใช่หน้ามังคุด ก็ยังได้รับประทาน
เพราะมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและถนอมอาหารให้สามารถรับทานได้ทั้งปีด้วยการนำมากวน
เช่นเดียวกับร้าน “ Keewong” นอกจากมังคุดกวนแล้วเมืองนครฯ
ยังมีมังคุดอ่อนเสียบไม้ของกิน (ที่ชาวนครฯ เรียกว่า“มังคุดคัด”) มังคุดอ่อนเป็นมังคุดที่ออกนอกฤดูกาลและหล่นก่อนวัย
ชาวบ้านจะนำมาแกะเปลือกเอาเนื้ออ่อนข้างในแช่น้ำเกลือเพื่อไม่ให้ดำแล้วเสียบไม้ส่งขายให้ตามร้านอาหารที่มีนักท่องเที่ยววนเวียนเข้าไป
โดยเฉพาะในตัวเมืองนครฯ ขายได้ราคาดีราคาไม้ละ 15-25 บาท (ไม้หนึ่งมี4-5
ลูกแล้วแต่ขนาด) ชาวคีรีวง เรียกสวนผลไม้ของตนเองว่า“สวนสมรม”(ผสม + รวม) เป็นแนวทางการผลิตที่พึ่งพิงธรรมชาติใช้เทคโนโลยีแบบเรียบง่าย
ให้ต้นไม้ดูแลกันเอง ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแมลง ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีใดๆ
ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงยังคงยึดอาชีพสวนสมรมเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้
ยังมีชาวบ้านในชุมชนเป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อผลผลิตจากสวนไปขายที่ตลาดหัวอิฐ
จังหวัดนครศรีธรรมราชความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาตินี้ได้เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หมู่บ้านทำการผลิตและพึ่งตนเองได้
ต่อมาในปีพ.ศ. 2505 พ.ศ. 2518 และ พ.ศ.2531 ได้เกิดอุทกภัย
และถือได้ว่าอุทุกภัยเมื่อ พ.ศ. 2531 (21 พฤศจิกายน 2531)
เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่ชาวคีรีวงเคยประสบมา
บ้านคีรีวงประสบเหตุน้ำป่าไหลหลาก
เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอันเนื่องมาจากฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 13 วัน
น้ำป่าทะลักพร้อมดิน โคลน ทราย และมีท่อนซุงมหึมาจากเทือกเขาหลวง
จากการทำไม้สัมปทานไหลทะลักเข้าหมู่บ้านทางคลองท่าดี
เข้ากัดเซาะพื้นดินและทะลักเข้าทำลายหมู่บ้านโดยทับถมทำลายบ้านเรือน โบสถ์วิหาร
โรงเรียน บ้านเรือนถูกน้ำพัดพาหายไปนับร้อยหลัง
ชีวิตผู้คนล้มตายเกิดความเสียหายมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวคีรีวงเหลือเพียงซากปรักหักพังของบ้านเรือน
โบสถ์และวิหารไว้เป็นสิ่งเตือนใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคีรีวงได้รับผลกระทบมาก
ทางราชการได้แนะนำให้อพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ที่ปลอดภัย
แต่ชาวคีรีวงไม่ยอมโยกย้ายไปจากถิ่นเดิมของบรรพบุรุษ
เพราะชีวิตผูกพันจนละทิ้งถิ่นฐานไม่ได้
ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ชาวคีรีวงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานเงินมากกว่า
100 ล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในการป้องกันภัยพิบัติทางน้ำในระยะยาว
จากบทเรียนครั้งนี้
ทำให้ชาวคีรีวงกลับมาให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพา
โดยจัดตั้งกองทุนเติมสีเขียวใส่เขาหลวง เพื่อทำหน้าที่แทนชุมชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับองค์กรภายนอก
จัดกิจกรรมให้ชาวคีรีวงฟื้นฟูและปกป้องป่ารอบชุมชน
จัดกิจกรรมปลูกป่าทดแทนตั้งแต่พื้นราบในหุบเขาคีรีวงถึงยอดเขาหลวง
ร่วมกันปลูกต้นประดู่ตลอดแนวคลองปง คลองท่าหาคลองท่าชาย
และคลองท่าดีเพื่อยึดเกาะหน้าดินและป้องกันการพังทลายของดินบริเวณริมตลิ่ง
รวมทั้งเป็นภูมิทัศน์ที่ดีของชุมชนอีกทางหนึ่ง ตลอดจนเป็นแหล่งให้ความรู้
ปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าแก่ชาวบ้าน เพื่อรักษาป่ารอบชุมชน
ภายหลังอุทกภัยในปีพ.ศ. 2531 ลักษณะทางกายภาพของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป
สายน้ำเปลี่ยนทิศทาง มีความคดเคี้ยวลดลง ไหลตัดผ่านตรงกลางหมู่บ้าน
แบ่งชุมชนออกเป็นสองฝั่งคลองประกอบกับระยะนั้นเป็นช่วงที่กระทรวงมหาดไทยต้องการแบ่งเขตการปกครองพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นหมู่บ้านใหม่
ชุมชนคีรีวงจึงถูกแบ่งเป็น 4 หมู่บ้าน คือ บ้านคีรีวง หมู่ที่ 5 บ้านคีรีทอง
หมู่ที่ 8 บ้านขุนคีรีหมู่ที่9 และบ้านคีรีธรรม หมู่ที่10 มาถึงปัจจุบัน
ชาวคีรีวงร้อยละ 68
มีงานทำตลอดปีและมีช่วงว่างจากการผลิตประมาณ 3เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก
จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมโดยชาวบ้านจะรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม เช่น
แปรรูปผลผลิต ผลิตสินค้าพื้นบ้านได้แก่ ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ
และผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อม เครื่องจักสาน การแปรรูปสมุนไพร
การถนอมอาหารจากผลผลิตในสวนสมรม อาชีพเสริมที่นิยมอีกอาชีพหนึ่งคือ
การรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในสวนสมรม เช่น ดายหญ้า เก็บผลผลิต
ซ่อมแซมสวน เป็นต้น
อาชีพรับจ้างเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวบ้านที่มีที่ดินของตนเองน้อย
ไม่เพียงพอต่อการยังชีพนอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมด้านการบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ซึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว โดยชาวบ้านทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ให้ความรู้เรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชนแก่นักท่องเที่ยว
รวมถึงเป็นผู้นำทางศึกษาธรรมชาติและพักแรมบนอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
นอกจากนี้ยังให้บริการที่พักในชุมชน (Home Stay) ซึ่งดำเนินการโดยชมรมการท่องเที่ยวอนุรักษ์บ้านคีรีวง
ทำให้ชุมชนคีรีวงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านคีรีวง
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อปีพ.ศ. 2541